จากข่าวความไม่ปลอดภัยของแฟชั่นเครื่องสำอางอย่าง “ทินต์” สำหรับทาปากให้ดูมีสีชมพูระเรื่อ ที่สาว ๆ นิยมใช้ทาเพื่อให้ดูมีสุขภาพดีนั้น ทำให้สาว ๆ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อ และใช้เครื่องสำอางอย่างปลอดภัยมากขึ้น เพราะการซื้อเครื่องสำอางราคาถูก บางทีอาจจะไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่จะได้รับก็ได้
เข้าทำนอง “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”


อย่างกรณี “ทินต์” ที่อย. ออกมาเตือนสาว ๆ ให้ระวัง หากสีที่ใช้ไม่ใช่สีผสมอาหาร แต่เป็นสีไม่ได้มาตรฐาน หรือสีต้องห้ามที่มีสารปนเปื้อน เช่น สารนิเกิล โลหะหรือสารตะกั่ว ปนเปื้อนอยู่ในทินต์นั้น นับว่าเป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวมากทีเดียว เพราะสารต้องห้ามเหล่านี้มักใช้ในภาคอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งถ้าหากกลืนกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง เมื่อพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว หรือทำให้ริมฝีปากปากปวดแสบปวดร้อน คัน เห่อแดง บวม หรือลอกเป็นขุย ยิ่งไปกว่านั้น คือความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ซึ่งจากผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่าสามารถก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองได้

แนะนำหากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่จะจ้างผลิตเครื่องสำอาง ควรเลือก โรงงานผลิตเครื่องสำอาง คุณภาพ ภายใต้ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญและกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ปลอดภัยได้มาตรฐาน ASEAN GMP, HACCP, HALAL

การเลือกซื้อเครื่องสำอางให้ปลอดภัยมี 5 วิธี ดังนี้


1.เลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ มีการระบุแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ และมีหลักแหล่งแน่นอน เพราะถ้าหากมีปัญหาจะติดต่อผู้รับผิดชอบได้

2.เลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทยต้องอ่านมองเห็นได้ชัดเจน และต้องระบุข้อความที่จำเป็น ดังนี้
ต้องตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้ง ว่ามีตัวเลขครบ 10 หลัก
ต้องดูชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และชื่อทางการค้า ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่เด่นชัดกว่าข้อความอื่น
ต้องดูประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ดูชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง เรียงตามลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย
ดูวิธีใช้ผลิตภัณฑ์
มี ชื่อ – ที่อยู่ของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ/ชื่อและที่ต้องของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิต ประเทศที่ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางนำเข้า
ดูปริมาณสุทธิของผลิตภัณฑ์
ตรวจสอบ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต  ,เดือน ปี ที่ผลิต หรือปี เดือนที่ผลิต ,เดือน ปีที่หมดอายุ หรือปี เดือนที่หมดอายุ ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Hydrogen peroxide
ถ้าฉลากมีพื้นที่น้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร ให้แสดงเฉพาะชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง และเลขที่แสดงครั้งที่ผลิต ส่วนรายละเอียดอื่นให้แสดงในเอกสารกำกับเครื่องสำอาง

3. เลือกซื้อเครื่องสำอางต้องมีการบรรจุหีบห่อที่ยังอยู่ในสภาพดี บรรจุภัณฑ์ไม่แตกรั่ว เสียหายและมีเก็บรักษาอย่างดี ไม่อยู่ในที่ร้อน ชื้นหรือโดนแสงแดด

4. ต้องไม่หลงเชื่อคำโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เกินจริง

5. ก่อนใช้งานผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องทดสอบก่อนใช้ทุกครั้ง สามารถตรวจสอบโดยการทาเครื่องสำอางในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขน แล้วทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง หากไม่มีความผิดปกติก็แสดงว่ามีความปลอดภัย สามารถใช้กับเราได้
เครื่องสำอาง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อความสะอาด และเพื่อความสวยงาม เท่านั้น การอ้างถึงสรรพคุณเกินจริง เช่น สามารถบำบัด บรรเทา รักษาโรค ป้องกันโรค หรือมีผลต่อโครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ต่าง ๆ ของร่างกายที่เป็นสรรพคุณทางยา จะจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาไม่ใช้เครื่องสำอาง

ตัวอย่างเช่น โลชั่นปลูกผม ครีมเสริมสร้างทรวงอก ครีมลดไขมัน สบู่ลดความอ้วน โลชั่นกระชับจุดซ่อนเร้น ครีมฆ่าเชื้อโรค ลดอาการผิวหนังอักเสบ แก้คัน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีการแสดงสรรพคุณทางยา ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยา

โดยส่วนมากเครื่องสำอางที่ขายในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู ยาสีฟัน โลชั่นบำรุงผิว น้ำหอม ลิปสติก เครื่องสำอางทาแก้ แต่งตา ทาเล็บ ย้อมผม เป็นต้น จัดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ซึ่งต้องมีการมาจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนผลิตหรือนำเข้า เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสามารถใช้เครื่องสำอางอางได้อย่างปลอดภัย

และแม้ว่าการเลือกซื้อเครื่องสำอาง  การเลือกใช้เครื่องสำอางจะเป็นเพียงเพื่อความสะอาดและความสวยงามเท่านั้น แต่ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ดังนั้นก่อนเลือกซื้อควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นให้ดีเสียก่อน

ที่มา:คู่มือ อย.น้อย ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 กลุ่มพัฒนาเครือข่าย กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,www.oryornoi.com